แนวทางการรักษาโรคตาแห้งที่มีสาเหตุมาจากภาวะต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน (Meibomian Gland Dysfunction) ตามแนวทางของ DEWS II (2017) แบ่งการรักษาเป็น 4 ขั้นตอนหลัก ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1:
1.1 ให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะความผิดปกติ สาเหตุของโรคตาแห้ง การตรวจวินิจฉัยที่จำเป็น การรักษา และพยากรณ์โรค
1.2 ปรับสิ่งแวดล้อมที่เป็นสาเหตุของโรคตาแห้ง เช่น ภาวะภูมิแพ้ที่เยื่อบุตา ซึ่งมักเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดอาการแพ้ 80% ของคนไทยมักมีอาการแพ้ไรฝุ่น เช่น ที่เตียงนอน ดังนั้น การรักษาความสะอาดและกำจัดไรฝุ่นที่เตียงนอน หรือการดูดฝุ่นที่เตียงนอนเป็นประจำทุกวัน จะมีบทบาทสำคัญในการรักษาโรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการตาแดงหรือไม่สบายตาหลังตื่นนอน
1.3 ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้อาหารเสริมที่ช่วยบำรุงรักษาอาการตาแห้ง (Meibomian Gland Dysfunction) ในปัจจุบันมีการใช้กรดไขมันจำเป็น (Essential Fatty Acid) รับประทานเสริม
1.4 พยายามหาสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงจากยาที่ใช้ ทั้งยาหยอดตาและยารับประทาน ที่อาจทำให้เกิดอาการตาแห้ง และหลีกเลี่ยงการใช้ยาดังกล่าว ซึ่งการใช้ต่อเนื่องอาจทำให้อาการตาแห้งแย่ลง
1.5 การทำความสะอาดเปลือกตาและการประคบอุ่นที่เปลือกตา มีบทบาทสำคัญมากสำหรับการรักษาโรคตาแห้งเรื้อรัง ควรอธิบายให้ผู้ป่วยเห็นความสำคัญและปฏิบัติเป็นกิจวัตรส่วนตัวอย่างต่อเนื่องทุกวัน
ขั้นตอนที่ 2:
การรักษาในขั้นตอนที่สองนี้ แนะนำให้เริ่มใช้และปฏิบัติหากการรักษาในขั้นตอนที่หนึ่งไม่เพียงพอ:
2.1 การใช้ยาหยอดตาเพื่อการหล่อลื่น (น้ำตาเทียม) ชนิดไม่มีสารกันเสีย (Preservative-Free Ocular Lubricants) เพื่อลดอุบัติการณ์ของสารกันเสียในยาหยอดตา ซึ่งสามารถทำให้เกิดความเป็นพิษต่อผิวดวงตาได้
2.2 ในกรณีที่ตรวจพบการอักเสบติดเชื้อที่เปลือกตาจากตัวไรที่ขนตา (Demodex Blepharitis) แนวทางการรักษาที่แนะนำคือการใช้น้ำยาทำความสะอาดเปลือกตาที่มีส่วนผสมของน้ำมันทีทรี (Tea Tree Oil Treatment)
2.3 การรักษาโดยการเพิ่มการสะสมของน้ำตาที่ผิวดวงตา (Tear Conservation) มีสองวิธีคือ:
- การอุดท่อน้ำตา (Punctal Occlusion)
- การใช้แว่นตากันลมที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวดวงตา (Moisture Chamber Spectacles/Goggles)
2.4 การรักษาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวดวงตาในตอนกลางคืน (Overnight Treatment) เช่น การใช้น้ำตาเทียมรูปเจลหรือขี้ผึ้งป้ายเคลือบผิวดวงตาตอนกลางคืน หรือการใช้แว่นตาที่ให้ความชุ่มชื้นและละลายไขมันที่เปลือกตาเพื่อการรักษา (Moisture Chamber Devices) ในปัจจุบันมีลักษณะแว่นอุ่นความร้อนเพื่อการรักษาตาแห้ง เช่น Blephasteam Goggles
2.5 การประคบอุ่นและการนวดรีดไขมันออกจากต่อมสร้างน้ำตาชั้นไขมัน (Meibomian Gland Expression) อย่างสม่ำเสมอ อาจเป็นการนวดด้วยแท่งแก้วสำหรับการรักษา ที่เรียกว่า Eyelid Spa หรือ Eyelid Hygiene Treatment ควรได้รับการนวดเปลือกตาประมาณ 1-2 ครั้งต่อเดือน
2.6 การใช้แสงในการรักษาภาวะต่อมสร้างน้ำตาชั้นไขมันอุดตันและอักเสบเรื้อรัง (Meibomian Gland Dysfunction or Blepharitis) การรักษาด้วยวิธีนี้มีชื่อเรียกว่า IPL หรือ Intense Pulsed Light
2.7 การรักษาโรคตาแห้งด้วยยาหยอดตา ได้แก่:
- ยาป้ายตารูปขี้ผึ้งที่เป็นยาปฏิชีวนะ หรือยาที่มีส่วนประกอบของยาปฏิชีวนะและยากลุ่มสเตียรอยด์ ป้ายที่บริเวณขอบเปลือกตาส่วนหน้าที่อักเสบ
- การหยอดยาหยอดตาที่เป็นสารสเตียรอยด์ (Topical Corticosteroid) เป็นระยะเวลาสั้นๆ
- การหยอดยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นต่อมที่มีหน้าที่หลั่งน้ำตาให้หลั่งน้ำตามากขึ้น (Topical Secretagogues)
- การหยอดยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Topical Non-Glucocorticoid Immunomodulatory Drugs)
เรียบเรียงโดย นพ. ณัฐวุฒิ วะน้ำค้าง
จักษุแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมจักษุตกแต่งและเสริมสร้าง
ข้อมูลอ้างอิง: TFOS DEWS II Management and Therapy Report. Jones L', Downie LE?, Korb Di
Benitez-Del-Castillo JM4, Dana RP. Deng SX, Dong PN7 Geering G& Hida RY9, Liu Y10 Seo KY", Tauber J'2, Wakamatsu TH13, Xu J14, Wolffsohn JS15, Craig JP16. Ocul Surf, 2017
Jul;15(3):575-628. doi: 10.1016/ jtos.2017.05.006. Epub 2017 Jul 20